เป็นเวลาเกือบสองปี ที่เกิดการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายภายในประเทศเมียนมา ส่งผลถึงนักลงทุนต่างประเทศที่ได้ขยายเข้าไปลงทุนในเมียนมาก่อนการรัฐประหาร จำเป็นต้องปรับแผนฝ่าความท้าทายครั้งใหญ่ให้ธุรกิจยืนหยัดต่อไปได้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ยศธน กิจกุศล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แวนสัน (ประเทศไทย) จำกัด หรือในอีกหมวกคือ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กรรมการบริษัท Ga mone pwint จำกัด
ซึ่งได้ร่วมลงทุนกับกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ก่อสร้างโรงพยาบาล อายุ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสพิทอล (Aryu International Hospital) ที่เมืองย่างกุ้ง ด้วยงบประมาณ 2,400-2,500 ล้านบาท ในเฟสแรก ปี 2561 บริษัท GMP จำกัด (หรือ Ga Mone Pwint) บริหารห้างใหญ่ท็อป 3 และโรงแรมในเมียนมา แต่ผ่านมาถึงปี 2564 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ทำให้ภาพรวมการทำธุรกิจในเมียนมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
Q : หลังรัฐประหาร นักลงทุนเป็นอย่างไร
นักลงทุนแต่ละรายก็ปรับตัวตามสภาพ และบางรายที่กระทบเยอะก็จะถอนตัว แต่สำหรับนักลงทุนไทยในอุตสาหกรรมการ์เมนต์ก็ยังลงทุนกันอยู่ และพอไปกันได้ ส่วนของโรงพยาบาลที่เราร่วมทุนด้วยก็ถือว่าไปได้ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องรัฐบาลห้าม คือการจำกัดการใช้เงินดอลลาร์ ซึ่งทำให้ค่าเงินอ่อนไปเยอะ การปรับตัวนั้นทางทีมบริหารก็มีการปรับส่วนของเงินกู้จากดอลลาร์เป็นจ๊าตแทน
Q : ในส่วน รพ.ยังไปต่อ
โรงพยาบาลเปิด 3 ปีแล้ว การดำเนินธุรกิจตอนนี้ยังทำได้ปกติ แต่มีความขลุกขลักในเรื่องที่เราแพลนไว้ คือจะเอาหมอจากไทยไปประจำ ก็ยังไม่สามารถจะเอาเข้าไปได้ โดยในช่วงแรกที่เปิดทางเรานำทีมแพทย์จากไทยเข้าไป 2-3 ท่าน พอเจอโควิดก็จำเป็นต้องถอนออกมา ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าผิดแผนนิดหน่อย
Q : ในส่วน รพ.ยังไปต่อ
โรงพยาบาลเปิด 3 ปีแล้ว การดำเนินธุรกิจตอนนี้ยังทำได้ปกติ แต่มีความขลุกขลักในเรื่องที่เราแพลนไว้ คือจะเอาหมอจากไทยไปประจำ ก็ยังไม่สามารถจะเอาเข้าไปได้ โดยในช่วงแรกที่เปิดทางเรานำทีมแพทย์จากไทยเข้าไป 2-3 ท่าน พอเจอโควิดก็จำเป็นต้องถอนออกมา ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าผิดแผนนิดหน่อย
Q : มีแผนปรับลด-เพิ่มสาขา
ยังคงมีจำนวนสาขาเท่าเดิม 5 สาขา และแพลนจะขยายอีก 3-4 โครงการ ทั้งในเมืองย่างกุ้ง และเนย์ปิดอว์ ซึ่งก็ต้องเจรจากับภาครัฐในเรื่องผลประโยชน์ก่อน
Q : ทำไมจึงมั่นใจขยายสาขา
ปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง ก็นับเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร อยู่ที่รัฐบาลเป็นหลักว่าจะมองอย่างไร ภาพรวมเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาผลกระทบเยอะ เรื่องโควิด และการลงทุนก็ไม่เข้าไป เพราะมันอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างการเติบโตของประเทศ
Q : ธุรกิจการ์เมนต์ในไทย
เดิมมีส่งไปเมียนมา แต่ตอนนี้ก็ลดลง เพราะต้นทุนในประเทศไทยก็ขยับขึ้น ค่าแรงเราก็ขึ้น สินค้าแพงขึ้น กำลังซื้อลดลง สินค้ายังไปได้แต่ก็ลดลง ปีนี้เรายังมองว่าถ้าเทียบกับปีก่อนที่มีโควิดน่าจะดีกว่า แต่จะโตมากหรือน้อย เพราะว่าค้าปลีกที่เมียนมาก็มองหาเสื้อผ้าราคาถูก และหลากหลายมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีสินค้าที่ส่งมาจากจีนเป็นหลัก
“เราก็หวังว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะฟื้นกลับมา ถ้าเขาโอเพ่นมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าเขากลับมาสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวเหมือนกับไทย จะเป็นหนทางในการฟื้นเศรษฐกิจที่ง่ายและเร็วที่สุด เพราะทุกคนก็อัดอั้น”
สำหรับมาตรการตอนนี้ยังมีการเข้าเมียนมายังต้องตรวจโควิดก่อนเข้าประเทศ แต่ถ้าเค้าไม่ตรวจการเข้าประเทศง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไป
Q : แนวโน้มปี’66
เราก็มองหาช่องทางใหม่ ๆ ลุยธุรกิจใหม่ ๆ คือประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่า ถ้าเรามีแค่ช่องเดียว ธุรกิจเดียว ถ้าเวลาเกิดอะไรขึ้น ผลกระทบเยอะ เหมือนโต๊ะขาเดียวกับโต๊ะ 4 ขา ดังนั้นก็ต้องกระจายความเสี่ยง
“ตอนนี้ได้ขยายการลงทุนผลิตอาหารเสริม มุ่งไปในธุรกิจเฮลท์แคร์ เราก็รู้สึกว่าเราต้องมีตัวช่วย เราจึงเริ่มผลิตและจำหน่ายแบรนด์ Sharisma ในช่องทางไดเร็กต์เซลมาปีเศษ ๆ”
สินค้าใหม่ที่ทำ เน้น Telos 95 ทำจากเถาองุ่นกับโอลีฟ ช่วยยืดเทโรเมียร์ หรือปลายโคโมโซม คือถ้าตอนที่เรายังเด็ก เทโรเมียร์จะยาว แต่พออายุมากขึ้นจะหดสั้นลง สร้างเซลล์ได้น้อยลง
“แม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้สูง เป็นเรดโอเชียน แต่เราก็พยายามพัฒนาสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่รับประทานได้ทุกวัน มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีคามูคามู ดีกว่าวิตามินซี แอสตร้าซานติน และคนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ตลาดนี้มูลค่าหลายหมื่นล้าน ยังมีโอกาสโตได้อีกเยอะ”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
ทุนไทยฝ่ามรสุมในเมียนมา สู้ไม่ถอยค้าปลีก-โรงพยาบาล (prachachat.net)