top of page

10 ข้อควรรู้ ก่อนนำเข้าสินค้าจากจีน

รู้ไว้ก่อนจะ “รู้งี้” เปิด 10 ข้อควรรู้ ก่อนนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน มาที่ประเทศไทย


วันที่ 2 มีนาคม 2566 หลายคนอาจจะกำลังติดตามข่าวประเด็นร้อนเรื่องการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารนำเข้าจากจีนในเขตกรุงเทพฯหลายแห่ง พบว่ามีอาหารและเครื่องดื่มจำนวนหลายรายการแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร จึงได้ยึดอายัดสินค้าดังกล่าวมากกว่า 120 รายการ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย


ประเด็นนี้ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจอาจจะกังวลว่า ต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง


“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมขั้นตอนนำเข้าสินค้าจากจีนตามกฎหมาย ให้ดังนี้


ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า สินค้าบางประเภท เช่น อาหาร ยาวิตามิน เครื่องสำอาง ต้องยื่นคำขอนำเข้า ณ ด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนนำเข้าทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย


เนื่องจากสินค้าบางประเภท เป็นสินค้าที่ถูกกำหนดมาอย่างเข้มงวด และการมีหนังสือรับรองการอนุญาตนำเข้าจาก อย. จะเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า สินค้านั้นได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบมาอย่างรัดกุม


สำหรับเอกสารและการเตรียมยื่นคำขอต่อ อย. เพื่อนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย ประกอบด้วย


1.ผู้นำเข้าต้องยื่น แบบคำขออนุญาตนำเข้าสินค้าชนิดนั้น ๆ โดยสามารถคลิกและพิมพ์แบบคำขอได้จาก กองด่านอาหารและยา


2.เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น หนังสือชี้แจงวัตถุประสงค์การนำเข้า


3. เตรียมบัญชีราคาสินค้า (Invoice) หรือใบตราส่งสินค้า (Air Waybill/Bill of Lading/Notification to Collect International Postal Items)


4. เตรียมสำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ หรือสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนแสดงวัตถุประสงค์ และผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคล ซึ่งออกมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน


5.ในกรณีดำเนินการแทน ให้แนบหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินการแทน ติดอากรแสตมป์ 10 บาท พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ


6. เอกสารเพิ่มเติมประกอบการยื่นขอ อาจมีความแตกต่างกันตามประเภทของสินค้า


7.เอกสารทุกใบต้องลงลายมือชื่อจริงทุกฉบับ


8.ส่วนกรณีนำเข้าเครื่องสำอาง ต้องมีสถานที่เก็บสินค้า เอกสารของผู้ผลิต เช่น ส่วนผสม และใบรับรองต่าง ๆ ก่อนไปขออนุญาต อย.

ขั้นตอนเมื่อได้ใบอนุญาต อย.


9.หลังจากได้รับใบอนุญาต อย. แล้ว ผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากจีน/หรือมอบหมายให้บริษัทชิปปิ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าแทน หลังจากนั้น แสดงหลักฐาน ณ ด่านตรวจสินค้า เพื่อจัดการให้ผ่านด่าน อย. ก่อนจะไปตรวจปล่อยสินค้ากับนายตรวจได้


10. การผ่านด่านตรวจสินค้านี้ ผู้นำเข้าต้องนำสินค้าตัวจริงกับใบอนุญาตไปยื่นที่ด่าน หากสินค้ากับใบอนุญาตตรงกัน ก็สามารถผ่านด่านได้ฉลุย


อย่างไรก็ตาม ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบของการผ่านด่าน อย. คือ สินค้าไม่ตรงกับการขออนุญาตไว้ เช่น ฉลากไม่ตรง ยี่ห้อสินค้าไม่ตรง ตลอดจนการระบุข้อมูลผิดพลาด ดังนั้น สิ่งที่ต้องระวังคือ วัตถุประสงค์ของการนำเข้าสินค้ากับการกรอกข้อมูล ควรจะตรงกัน อาทิ


กรณีนำเข้าเครื่องมือแพทย์ เพื่อใช้เฉพาะตัว ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เฉพาะตัวเท่านั้น ไม่นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย และจะต้องแสดงรายละเอียดเครื่องมือแพทย์ที่นำเข้า รวมทั้งแสดงใบรับรองแพทย์ ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ เพื่อรับรองว่าผู้นำเข้าจำเป็นต้องใช้เครื่องมือแพทย์ดังกล่าว


หรือกรณีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการพิจารณาสั่งซื้อ หรือเพื่อใช้เฉพาะตัว จะต้องรับรองว่าจะไม่นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย จำกัดจำนวนนำเข้าตามหลักเกณฑ์


หรือกรณีนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อบริโภคเอง จะต้องมีจำนวนในการบริโภค ไม่เกิน 30 วัน และมีวัตถุประสงค์การนำเข้าเพื่อการบริโภคเท่านั้น ไม่นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย เป็นต้น


หากผ่านด่าน อย. มาได้แล้ว ก็เท่ากับว่าสินค้าที่นำเข้าจากจีนนั้น ตรงตามที่จดแจ้งไว้อย่างถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจปล่อยตามปกติ

ทั้งนี้ หากสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน อย. โทร. 1556 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น.


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ


ดู 197 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page
Free Counter