top of page

ผลสำรวจ"ส.อ.ท."ชงรื้อโครงสร้างพลังงาน

ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจ FTI Poll งานด่วนภายใน 90 วันของรัฐบาลใหม่ เสนอแก้ปัญหาพลังงานทั้งระบบ ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซ หวังค่าไฟงวด ก.ย. - ธ.ค.ลดลง หลังคนไทยรับค่าไฟสูงเกินจริงเพราะมีต้นทุนแฝง ‘เกรียงไกร’ พร้อมลุยงานวาระ 2 ดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เชื่อมบีซีจี รับมือเทรนด์ลดคาร์บอน

• FTI Poll แนะงานด่วนรัฐบาลใหม่ใน 90 วัน ดูแลไฟฟ้า ก๊าซ น้ำมัน

• เกรียงไกร’ พร้อมลุยงานวาระ 2 ดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เชื่อมบีซีจี

• ส.อ.ท.พร้อมรับมือเทรนด์ลดคาร์บอน


สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดประชุมสามัญประจำปี 2566 โดยมีสมาชิก ส.อ.ท.กว่า 15,000 รายทั่วประเทศ รวมกิจกรรม โดยประกาศแผนการดำเนินงานของ ส.อ.ท.วาระปี 2565-2567 ที่ถือเป็นวาระที่ 2 ของนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. โดยมีแผนงานภายใต้ “ONE FTI” (ONE Vision, ONE Team, ONE Goal) ที่เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) ร่วมกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG


นายเกรียงไกร เปิดเผยว่า สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงเร็วทำให้ไทยต้องรับมือ และปรับตัว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ควบคู่กับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้เชิญผู้แทนพรรคการเมืองมาร่วมรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชน


ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง และคาดเดาได้ยาก หลังปัญหาโควิด-19 มาสู่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และภาวะเงินเฟ้อ ในปี 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตเพียง 1.7% และไทยพึ่งพาภาคการส่งออกกว่า 60% เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงได้รับความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวลง


ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในประเทศยังเผชิญกับภาวะต้นทุนแพง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า วัตถุดิบแรงงาน และต้นทุนการเงินในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศลดลง และปัจจุบันการแข่งขันในอาเซียนเข้มข้นขึ้นทั้งจากการเติบโตของเวียดนามรวมทั้งฟิลิปปินส์ที่กำลังมาแรง รวมทั้งประเทศที่เติบโตอยู่แล้วอย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย


“การขับเคลื่อนในภาคอุตสาหกรรมโดยเอกชนอย่างเดียวไม่เพียงพอ ในโลกแห่งการแข่งขันจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน ในการร่วมกันขับเคลื่อน และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย”


นอกจากนี้ ส.อ.ท.ได้รายงานผลการสำรวจความเห็น FTI Poll หัวข้อ “สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก” เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ที่ได้จากการสำรวจสมาชิก 427 ราย เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2566 ครอบคลุม 5 ประเด็น คือ


1.การแก้ปัญหาพลังงาน และค่าไฟฟ้าแพง โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 77.8% เห็นว่าควรปรับปรุงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ เช่น ค่าไฟ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งลดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้สมดุล


รองลงมาเห็นว่าขอให้ลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวด ก.ย.- ธ.ค.2566 เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ 70.0%


ขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.พลังงาน) เพื่อให้เอกชนร่วมแก้ปัญหาพลังงาน 50.6%


ขอให้เอกชนขายไฟฟ้าส่วนที่เกินจากการใช้งานผ่านระบบส่งหรือจำหน่ายของการไฟฟ้าฯ และมีระบบหักลบหน่วยใช้ไฟฟ้าที่ขายคืนการไฟฟ้าฯ เข้าระบบ (Net Metering) 49.6%


และขอให้ปลดล็อกเงื่อนไขผลิตไฟฟ้าให้สามารถมีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้เกิน 1 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) 43.8%


เสนอเชื่อมซัพพลายเชนโลก

2.การแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบแพงและการสร้าง Supply Chain Security ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าควรทบทวนโครงสร้างภาษีนำเข้ากลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ 65.3%


ขอให้ลดขั้นตอน และค่าธรรมเนียมศุลกากร และส่งเสริมการใช้งานแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย เช่น National Digital Trade Platform (NTDP) 58.3%


ขอให้จัดทำแผนพัฒนา และรองรับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นของประเทศ 54.6%


ขอให้เร่งภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม หรือสินค้าที่สามารถหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักการ Circular Economy 49.6%


และขอให้ผ่อนผันมาตรการควบคุมนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลนชั่วคราว เพื่อไม่ให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น 41.7%


ขอสินเชื่อหนุนเอสเอ็มอี

3.การแก้ปัญหาต้นทุนทางการเงินในภาคธุรกิจ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าควรออกมาตรการลดภาระต้นทุนการผลิตให้ SME ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ 60.0%


ขอให้ปรับเงื่อนไขขอรับส่งเสริมการลงทุน SME ให้สะดวก และง่ายขึ้น รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ 59.5%


ขอให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน 58.3%


ขอให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อ Supply Chain Finance ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้กับ SME 55.0%


และขอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนที่รัฐจัดเก็บจากเอกชนให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจ 46.1%


หนุนจ่ายค่าจ้างตามทักษะ

4.การแก้ปัญหาแรงงาน โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขอให้สนับสนุนจ่ายค่าจ้างตามทักษะ (Pay by Skill) และรัฐปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้แรงงาน 65.8%


ขอให้จัดงบพัฒนา Up-skill , Re-skill , Multi-skill , Future-skill ให้กับบุคลากรอย่างเหมาะสมกับธุรกิจยุคใหม่ 65.1%


ขอให้กำหนดให้การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ (Labour Productivity) เพื่อให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาบุคลากรจากทุกภาคส่วน 63.0%


ขอให้พัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data เพื่อวางแผนพัฒนากำลังคนทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน 48.5%


และขอให้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำผ่านกลไกคณะกรรมการค่าจ้างกลาง และอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 46.1%


แนะเร่งแก้คอร์รัปชัน

5.ด้านการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 74.7% เห็นว่าควรปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตของภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย


ขอให้ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแก้ปัญหาการฮั้วประมูล 62.1%


ขอให้ปรับรูปแบบจากระบบการขออนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ มาเป็นการรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายและตรวจติดตามผล 58.3%


ขอให้เร่งหน่วยงานภาครัฐปรับการทำงานให้สอดคล้อง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ 55.5%


และขอให้ขยายผลการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างทุกระดับ เพื่อเปิดให้เอกชนมีส่วนร่วมเข้าไปสังเกตการณ์ และตรวจสอบ 52.5%


หนุนรื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้า

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ผลประชุมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันที่ 22 มี.ค.2565 มีมติเก็บค่า Ft 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วย ยังไม่ตอบโจทย์ในภาพรวม


สำหรับค่า Ft ที่ กกพ.คิดนั้น ส.อ.ท.มองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาต้นทาง โดยค่าไฟงวดเดือนม.ค.- เม.ย.2566 ใช้สมมติฐานช่วง Peak ทั้งต้นทุนพลังงานโลก และค่าเงินบาท ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจต้นทุนสูงขึ้น 13% จาก 4.72 เป็น 5.33 บาท/หน่วย แต่ต้นเดือนม.ค.2566 ก็พบว่าสมมติฐานที่วางไว้สูงเกินไป


ส่วนค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.- ส.ค.2566 ช่วงต้นทุนพลังงานของโลกต่ำลง รวมค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่ภาครัฐเลือกใช้สมมติฐานข้อมูลเดือนม.ค.2566 ที่ไม่เป็นสอดคล้องกับภาวะขาลงเพื่อพิจารณาในการประชุม กกพ.วันที่ 22 มี.ค.2566 แต่ประชาชนคนไทยต้องรับตัวเลขค่าไฟฟ้าที่สูงเกินจริงตลอดเดือนพ.ค.- ส.ค.2566 ซึ่งผลออกมาแบบนี้เพื่ออะไร และใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง


นอกจากนี้ภาครัฐเร่งรัดรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปลายรัฐบาล เช่น การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668 เมกะวัตต์ ทั้งที่ยังมีเอกชนหลายรายยื่นฟ้องขอการคุ้มครองจากศาลปกครอง รวมถึงโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ไทยมีซัพพลายไฟฟ้ามากกว่าดีมานด์ถึง 50% จึงไม่ควรเร่งรีบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเพราะมีผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้า


รวมทั้งยังมีประเด็นการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศที่ยังไม่เหมาะสมเป็นธรรมระหว่างภาคปิโตรเคมีและไฟฟ้า


ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page
Free Counter