top of page

หอการค้าไทยชี้ปี 2566 คนไทยซื้อ-ขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น 17.91%

หอการค้าไทยเผยผลสำรวจเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2566 มูลค่าซื้อ-ขายผ่านแพลตฟอร์มถึง 894,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.91% โดยกลุ่มที่ใช้สูงสุด Gen Y-Gen Z อีกทั้งพบว่าสื่อสังคมออนไลน์ LINE ใช้เยอะสุดถึง 95.9%

วันที่ 21 เมษายน 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ หากรัฐบาลมีนโยบายที่เด่นชัด จะส่งผลให้มีการเติบโตและโดดเด่นมากขึ้น


ปัจจุบันจะเห็นได้จากต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น และมั่นใจว่าอีก 5-10 ปี เศรษฐกิจดิจิทัลจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทย หากดูตัวเลขทางเศรษฐกิจจะพบว่ามีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของจีดีพีประเทศ ปัจจุบันจีดีพีของประเทศอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท


โดยธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์คิดเป็นมูลค่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูง อย่างไรก็ดี หลังการเลือกตั้งหากรัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายด้านนี้ก็จะทำให้ธุรกิจดิจิทัลเติบโตมากขึ้น ซึ่งจากการประเมินมูลค่าการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในปี 2566 พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งต่อเดือนอยู่ที่ 1,485 บาท โดยมีจำนวนคนที่ซื้อผ่านออนไลน์ 50.2 ล้านคน มูลค่าการซื้อขาย 894,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.91%



นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการสำรวจในหัวข้อ “Digital Marketing และ Digital Economy แรงกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง” โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ภาคประชาชน 1,227 ตัวอย่าง และภาคผู้ประกอบการ 395 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 8-18 เมษายน 2566 พบว่าพฤติกรรมของประชาชนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนใหญ่ 51.4% มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีและดิจิทัล 4.1% ไม่เข้าใจเลย ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีอายุ 55-72 ปี

ขณะที่ความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ 72.3% มาก โดยกลุ่มที่ใช้มาก คือ Gen Y Gen Z และ 15.5% ปานกลาง และ 3.9% ไม่ใช้เลย การใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันพบมากสุด ผ่านมือถือ รองลงมา คอมพิวเตอร์ การซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม กว่า 70.3% มีการซื้อขาย และซื้อขายผ่าน e-Marketplace (Shopee, Lazada, Kaidee, Grab) โดยส่วนใหญ่ และ 29.7% ไม่มีการซื้อขาย เพราะเหตุใดถึงไม่มีการซื้อขายสินค้าผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม


ส่วนการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มในแต่ละ Generation โดยส่วนใหญ่ Gen Z จะมีการซื้อขาย บริการ เยอะ การชำระเงินก็จะผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร เนื่องจากสะดวกและจะซื้อเป็นประจำทุกวัน ค่าใช้จ่ายก็ประมาณ 1,000-1,500 บาท ต่อเดือนก็ประมาณ 1,485 บาท สินค้าที่พบว่าซื้อมากจะอยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า แฟชั่น เครื่องประดับ ปัจจัยที่เข้าไปซื้อก็เพราะมีสินค้าให้เลือกมากมาย


นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน คนส่วนใหญ่ 81.7% ใช้ เพราะสะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน รวมถึงใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา โดยโอน-ถอนมากสุด ส่วนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ใช้ติดต่อประสานงาน นัดหมาย การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น LINE, Facebook, IG, YouTube และ TikTok แพลตฟอร์มที่ใช้มากสุด LINE 95.9% รองลงมา เฟซบุ๊ก 88.3% ส่วนภัยคุกคามทางการเงินมากสุด และไม่ค่อยรู้ว่ามีมาตรการป้องกัน


โดยสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจดิจิทัลของไทย เช่น ออกมาตรการ ป้องกัน ควบคุม และตรวจสอบ เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ จัดการกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง ไม่มีข้อยกเว้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อรองรับการพัฒนาของเทคโนโลยีในอนาคต ผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ ผ่านการสนับสนุนซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในธุรกิจและชีวิตประจำวัน สร้างระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมาย PDP


ส่วนความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีผลต่อการดำเนินธุรกิจมากน้อยเพียงใด 68.9% สำคัญมาก 3.2% ไม่สำคัญเลย และการใช้ในการดำเนินธุรกิจ 75.9% ธุรกรรมทางการเงิน 68.4% ติดต่อสื่อสาร ส่วนปัญหาที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี จะไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลหรือการแข่งขันออนไลน์ได้ ไม่สามารถเชื่อมให้เป็น One Stop Services และปัจจุบันยังพบว่าการขายสินค้าและบริการ 69.2% เกิดจากออนไลน์ หน้าร้านเพียง 30.8% ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นสร้างรายได้มากขึ้น และมูลค่าการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (B2C) ปี 2566 พบว่าอยู่ที่ 894,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.91%


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ



ดู 35 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page
Free Counter