top of page

ดีมานด์ชะลอ – ภาคการผลิตโลกหดตัว ทุบส่งออกไทยไตรมาส 1 ติดลบ 4.5%

“พาณิชย์” เผยส่งออก มี.ค.ติดลบ 4.2% กลับมาเกินดุลในรอบ 12 เดือน รวมไตรมาส 1 ติดลบ 4.5% คงเป้าปีนี้ 1-2% เตรียมถกทูตพาณิชย์ประเมินส่งออกครึ่งปีหลัง 25 พ.ค.นี้ สรท.พอใจค่าบาท 34-35 บาท เอื้อส่งออก “อาคม” คาดกระเตื้องขึ้นกลางปีนี้ หลังผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการซื้อ

Key Points

• การส่งออกเดือน มี.ค.2566 ติดลบ 4.2% เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2565

• ปัจจัยท้าทายของการส่งออกไทยนับจากนี้ คือ ดีมานด์และภาคการผลิตหดโลกชะลอตัวลง

• กระทรวงพาณิชย์เตรียมนัดหารือทูตพาณิชย์เพื่อผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2566

• รมว.คลัง ประเมินว่าการส่งออกไทยจะฟื้นตัวในช่วงกลางปี 2566 หลังผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการซื้อ


การส่งออกที่เคยเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงโควิดระบาดปี 2563-2566 กำลังแผ่วลงเมื่อโลกเผชิญเศรษฐกิจถดถอย รวมกับสถานการณ์เงินเฟ้อในหลายประเทศ และมีปัจจัยเสี่ยงใหม่จากวิกฤติการเงินในสหรัฐและยุโรป โดยปัจจัยดังกล่าวสะท้อนถึงการส่งออกเดือน มี.ค.2566 ที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565


กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าการส่งออกเดือน มี.ค.2566 มีมูลค่า 27,654 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วติดลบ 4.2% โดยหดตัวต่ำกว่าที่คาด ทำให้มูลค่าการส่งออกยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี และสูงสุดในรอบ 12 เดือน และเมื่อหักมูลค่าการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย จะขยายตัว 0.01%


ขณะที่การนำเข้าเดือน มี.ค.2566 มีมูลค่า 24,935 ล้านดอลลาร์ หดตัว 7.1% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2,718 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกลับมาเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน



สรุปการค้าระหว่างประเทศไตรมาส 1 ปี 2566 การส่งออกมีมูลค่า 70,280 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปี 2566 ติดลบ 4.5% การนำเข้ามีมูลค่า 73,324 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.5% และดุลการค้าไตรมาส 1 ขาดดุลการค้า 3,044 ล้านดอลลาร์


นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงถือได้ว่าทำได้ใกล้เคียงกับปี 2565 โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการมีสัญญาณกลับมาเป็นบวกในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย อีกทั้งยังกลับมาเกินดุลการค้าในรอบ 12 เดือน


ทั้งนี้ การส่งออกเดือน มี.ค.2566 ที่ลดลงมาจากการลดลงของสินค้าอุตสาหกรรม 5.9% ลดต่อเนื่อง 6 เดือนติด โดยสินค้าที่หดตัว เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลดลง 14.2% , เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลดลง 6% , เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลด ลง 13.7% , อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ลดลง 3.5%


ขณะที่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 1.4% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 16.7% อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เพิ่มขึ้น 66.4% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 27.4% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 5% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 55.9%


ห่วงดีมานด์โลก-ภาคการผลิตหด

ด้านการส่งออกตลาดสำคัญส่วนใหญ่ดีขึ้นและหดตัวน้อยลง โดยตลาดหลักลดลง 0.8% เช่น จีน ลดลง 3.9% CLMV ลดลง 3.5% อาเซียน (5 ประเทศ) ลดลง 2.1% , สหภาพยุโรป (EU) ลดลง 7.3% ขณะที่ตลาดสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.7% , ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 10.2%


ขณะที่ตลาดรอง ลดลง 3.4% เช่น เอเชียใต้ ลดลง 6.9% , ทวีปออสเตรเลีย ลดลง 23.3% แต่ตลาดรัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่มขึ้น 228% ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 3% , ลาตินอเมริกา เพิ่มขึ้น 5.9%


ทั้งนี้ การส่งออกยังมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ 1.ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศคู่ค้ายังคงมีต่อเนื่อง เพื่อสำรองไว้บริโภคในประเทศ 2.การฟื้นตัวของการบริโภคภายในของจีน


ส่วนปัจจัยท้าทายสำคัญ คือ 1.ภาคการผลิตโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง 2.การส่งออกบางสินค้าอยู่ช่วงขาลงตามความต้องการที่ลดลงจากการสั่งซื้อสินค้าไปก่อนหน้านี้แล้ว


นัดหารือทูตพาณิชย์ดันส่งออก

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกไทยดีขึ้นจากที่คาดว่าจะติดลบ 2 หลัก เป็นผลจากการดำเนินการแผนระยะที่ 1 ที่ผลักดันการส่งออกตลาดตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV และวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.พาณิชย์) ส่วนวันที่ 25 พ.ค.นี้ จะประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกเพื่อทำแผนขับเคลื่อนการส่งออกระยะที่ 2


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ทุกสำนักประเมินว่าการส่งออกเดือน มี.ค.จะติดลบ 2 หลัก แต่ติดลบแค่ 4.2% และยังลบน้อยกว่าประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น ลดลง 7.5% , เกาหลีใต้ ลดลง 13.6% , สิงคโปร์ ลดลง 5.2% , อินเดีย ลดลง 13.9% , ไต้หวัน ลดลง 19.1% , เวียดนาม ลดลง 14.4% และมาเลเซีย ลดลง 7.3%


ทั้งนี้ ปี 2566 กระทรวงพาณิชย์วางเป้าไว้ที่ 1-2% แม้จะท้าทายมากก็ตาม ซึ่งการที่จะทำให้การส่งออกขยายตามเป้าหมายต้องมีมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 24,500 ล้านดอลลาร์ โดยกระทรวงพาณิชย์จะทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนผู้ส่งออก


สำหรับแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวเพราะแรงกดดันด้านอุปสงค์ทั้งจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยทั่วโลกยังสูง ภาวะวิกฤติสถาบันการเงินยังบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อผันผวนของราคาพลังงาน โดยคาดว่าแนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 การส่งออกจะยังติดลบ แต่ไม่มาก และช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มดีขึ้น


สรท.หวังบาทอ่อนหนุนส่งออก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน มี.ค.ที่มูลค่าสูงถึง 27,000 ล้านดอลลาร์ ถือว่าดีกว่าที่คาดไว้มากและในภาพรวมการส่งออกไตรมาส 1 ปีนี้ ติดลบน้อยกว่าที่คาด เพราะหลายตลาดกลับมาขยายตัว ซึ่งหลังจากนี้ภาคเอกชนจะจับมือกับกระทรวงพาณิชย์ผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.พาณิชย์) เพื่อส่งเสริมการส่งออกและขยายตลาดให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้เป็นบวก



ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น ภาคเอกชนมีความพอใจต่อค่าเงินบาทในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสม ไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าจนเกินไป โดยสามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งได้ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย


‘อาคม’คาดส่งออกดีขึ้นกลางปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัว 3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน ม.ค.นี้ ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.8% เพราะมูลค่าการส่งออกติดลบ 0.5%


ทั้งนี้ คาดว่ากลางปี 2566 การส่งออกจะดีขึ้นหลังจากติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เพราะเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกจะดีขึ้นเพราะผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าจะปรับตามเงินในกระเป๋า เช่น อาจโยกเงินมาซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง แต่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน


นอกจากนั้น การส่งออกรถยนต์คาดว่าผู้ผลิตในประเทศจะพยายามส่งออกตามออเดอร์ที่ผู้ซื้อในประเทศสั่งมา เพื่อไม่ให้เสียตลาด


“แม้ว่าภาคส่งออกของไทย จะชะลอตัวลงมาช่วงนี้ แต่ภาคบริการโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวไทยปรับตัวดีขึ้น สศค.คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยปีนี้ 29.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 2 ล้านคน”


สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลขยับขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่เฟดได้ปรับดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก เพื่อกดเงินเฟ้อให้ต่ำลงมาอยู่ที่ 2% โดยปีนี้เฟดตั้งเป้าหมายจะประชุม 8 ครั้ง เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ย ซึ่งที่ผ่านมาประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง


รวมทั้งเมื่อมีทิศทางที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้การประมูลพันธบัตรรัฐบาลต้องดูจังหวะ เพราะเมื่อสหรัฐปรับขึ้นทำให้ไทยต้องปรับขึ้น เพื่อดึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แต่เวลาเดียวกันก็มีภาระในการชำระหนี้ของรัฐบาล แต่พันธบัตรรัฐบาลไทย 85% เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่จึงยังไม่กระทบต่อภาระรัฐบาล ส่วนอีก 15% เป็นพันธบัตรที่อัตราดอกเบี้ยลอยตัวขึ้นลงตามอัตราตลาด


“ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเฟดอยู่ที่ 4% แต่ในอดีตเคยสูงถึง 10% ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐเห็นว่าต้องปรับดอกเบี้ย แม้ 2 เดือนที่ผ่านมาจะมีการปิดสถาบันการเงินในสหรัฐ 2 แห่ง ทำให้มีผู้คาดว่าจะทำให้เฟดดึงเวลาการปรับดอกออกไปหรือปรับช้าลง แต่เท่าที่ดูยังยืนยันขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลอัตราดอกเบี้ยในตลาดด้วย”



ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ดู 22 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page
Free Counter