top of page

หอการค้าเชียงใหม่ ชูธง NEC Valley ดันจีดีพี 3 แสนล้าน

จุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 23 (2564-2565) ขับเคลื่อนการบริหารงานในห้วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา โดยใช้อาวุธสำคัญคือระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ที่วางให้เป็นจุดเน้นหนักในการบริหารงาน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเเข่งขันอย่างยั่งยืน และย้ำชัดว่า การบริหารงานในสมัยที่ 24 (2566-2567) จะต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ที่วางหมุดหมายให้ “เชียงใหม่” มุ่งสู่ “NEC Valley” อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC) ที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ GPP ของจังหวัดเชียงใหม่ แตะระดับ 3 แสนล้านบาท ภายในปี 2568


บทสัมภาษณ์โดย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “จุลนิตย์ วังวิวัฒน์” ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ถึงผลการดำเนินงานสมัยที่ 23 และก้าวต่อไปในสมัยที่ 24


ติดอาวุธดิจิทัลยกระดับรายได้

จุลนิตย์ กล่าวว่า การสร้างความยั่งยืนและมั่นคงของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่คือ การส่งเสริมองค์กรให้เข้มแข็ง โดยการพัฒนาศักยภาพขององค์กรในภาพรวมทั้งในระดับคณะกรรมการ และสำนักงานเลขาธิการหอการค้า ส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ของหอการค้า และสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน เพื่อเป็นองค์กรชั้นนำและเป็นตัวอย่างในการบริหารองค์กรแก่ภาคเอกชนต่าง ๆ


ขณะเดียวกันอีกประเด็นสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นคือ การสร้างประโยชน์แก่สมาชิก เชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายสมาชิก โดยการนำระบบดิจิทัลสารสนเทศ รวมถึงระบบการสื่อสารบริการ เพื่อสร้างความใกล้ชิดและสร้างผลประโยชน์สู่สมาชิกให้มีความชัดเจน ตอบสนองตรงความต้องการของสมาชิกเป็นหลัก เพื่อให้สมาชิกมีความเชื่อมั่นและสนับสนุนการดำเนินงานของหอการค้าต่อไป


จุลนิตย์ บอกว่า วันนี้โลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว การพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนต้องพัฒนาทักษะ Digital Skill อย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นการบริหารงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2564-2565)


ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ค่อนข้างครอบคลุม ผ่านการอบรมให้กับสมาชิก การพัฒนาความรู้ในระบบดิจิทัลด้านต่าง ๆ และการอบรมให้ความรู้ระบบ e-Money ที่จะเกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ รวมถึงผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองแห่ง Market Place ในระดับนานาชาติผ่านกลไกความร่วมมือของบ้านพี่เมืองน้อง


“ปัจจุบันเชียงใหม่เป็นฐานหลักของ ‘ดิจิทัล นอแมด’ (Digital Nomad) ซึ่งเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานด้านดิจิทัล เดินทางมาพักอาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำงานในสถานที่ต่าง ๆ แบบไม่ยึดติดสถานที่


ซึ่งปัจจุบันประชากรกลุ่มนี้อยู่ในเชียงใหม่มากกว่า 1 หมื่นราย ทำงานด้านซอฟต์แวร์ การตลาด-โฆษณา การเงิน กฎหมาย และทำธุรกิจ มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 50,000-100,000 บาท คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับจากคนกลุ่มนี้ราว 10,000 ล้านบาทต่อปี”


สอดคล้องกับนโยบายของหอการค้าฯ ที่มุ่งส่งเสริม Innovation and Smart City เน้นการท่องเที่ยวมูลค่าสูง การนำความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ มาผนวกเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ ๆ ก่อให้เกิดการจ้างงานการหมุนเวียนเกี่ยวเนื่องธุรกิจต่าง ๆ


ทั้งนี้ หอการค้าฯมองว่าควรต้องยกระดับเชียงใหม่ให้เป็นเมืองดิจิทัล โดยพัฒนาและสร้างโอกาสให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเชียงใหม่เข้าสู่ดิจิทัล นอแมดให้มากขึ้น เพื่อยกระดับฐานรายได้ให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันอัตราการจ้างงานของนักศึกษาที่จบใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่เฉลี่ยอยู่ที่เพียง 15,000 บาทต่อเดือน ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตได้ช้า


แต่การเป็นเมืองดิจิทัล ธุรกิจด้านนี้จะใช้แรงงานทักษะสูง ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ของนักศึกษาที่จบมหาวิทยาลัยให้เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และเศรษฐกิจจะเติบโตได้เร็ว


ขณะเดียวกัน หอการค้าฯ ยังให้ความสำคัญการสร้างคุณค่าชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ต้องควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ ถือเป็นอีกหนึ่งพันธกิจหลักที่ต้องร่วมผลักดันส่งเสริม ทั้งการลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 การผลักดันส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นเมืองสีเขียว (Green City) และรักษาศิลปวัฒนธรรมอันดีงามล้านนา

ชูเรือธง NEC Valley


จุลนิตย์ กล่าวต่อว่า การบริหารงานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 24 จะมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งโครงการสำคัญที่จะเร่งผลักดันในเชิงนโยบายคือ NEC Valley ภายใต้กรอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC) ที่รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่ไว้ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน


หอการค้าฯได้วางหมุดหมายให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ NEC Valley โดยจะผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคเหนือ และพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพสร้างสรรค์ ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องงานฝีมือและหัตถกรรม


แต่ยังขาดความชัดเจนในการระบุว่า พื้นที่ไหนควรมุ่งเน้นการผลิตในเรื่องใด และความเหมาะสมของพื้นที่ ว่าควรลงทุนในเรื่องใด ซึ่งจำเป็นต้องเร่งรัดกลไกการบริหารจัดการให้มีการจัดตั้ง “บอร์ดบริหารงาน” พื้นที่ NEC ให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนแผนงานระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ


โดยกำหนด 3 พื้นที่สำคัญของ NEC Valley คือ ย่านนิมมานฯ แม่เหียะ และสันกำแพง แบ่งพื้นที่การขับเคลื่อนเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนพื้นที่ในเขตเมืองเชียงใหม่ ได้กำหนดไว้ 4 ด้านคือ


1.การพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ Medical Hub, โครงการเชียงใหม่เมืองแห่งสุขภาวะ และการเป็นศูนย์เรียนรู้และการดูแลผู้สูงอายุผ่านศูนย์พฤฒพลังของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


2.การผลักดันเมืองอัจฉริยะ และเมืองพลังงานหมุนเวียนสะอาด เช่น การเพิ่มพื้นที่สถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charging Station) โซลาร์ฟาร์ม 3.โครงการส่งเสริมธุรกิจเกษตรแปรรูปและพลังงานที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ BCG แม่เหียะโมเดล 4.ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้เป็น Silicon Valley เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าของเชียงใหม่


และอีกโซนคือ พื้นที่นอกเขตเมือง จะเน้นประเด็นลดความเหลื่อมล้ำผ่านแผนงานหลัก 6 ด้าน ได้แก่ 1.การแพทย์สมัยใหม่ โดยส่งเสริมการบริการโทรเวช หรือ Telemedicine 2.ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา Food Valley ที่มุ่งไปสู่ Super Food เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วยนวัตกรรม 3.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน


3.การแก้ไขปัญหาระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มรายได้กับเกษตรกรโดยพัฒนาระบบจัดการน้ำ และการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับศักยภาพและความต้องการของตลาด 5.การยกระดับสินค้าเกษตรออร์แกนิก และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์การบริการสุขภาพและเครื่องสำอาง (Wellness and Cosmetic) 6.การส่งเสริมหัตถอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์


จุลนิตย์ บอกด้วยว่า NEC Valley จะก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานทักษะสูง ที่จะนำนวัตกรรมและดิจิทัลมายกระดับสินค้าและบริการ ซึ่งจะทำให้ GPP ของจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 25% หรือมากกว่า 3.2 แสนล้านบาท ภายในปี 2568


นอกจากนี้จะเพิ่มตำแหน่งงานทุกวุฒิมากกว่า 50% หรือมากกว่า 24,000 ตำแหน่ง และจะลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.34


หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ชูเรือธง NEC Valley ชัดเจน ที่จะพลิกโฉม GPP เศรษฐกิจเชียงใหม่สู่ 3 แสนล้านบาท ในปี 2568 ซึ่งนั่นหมายถึงกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) เป็นประเด็นเร่งด่วน ที่รัฐบาลต้องเร่งรัดผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วเสียที


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ



ดู 39 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page
Free Counter