top of page

ส.อ.ท. จับตาแบงก์ SVB สหรัฐล้ม อาจเป็นจุดเริ่มต้นคล้ายต้มยำกุ้งปี 2540

ส.อ.ท. วิเคราะห์กรณีแบงก์ SVB สหรัฐล้มทำตลาดเงินตลาดทุนผันผวนระยะสั้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นคล้ายต้มยำกุ้งของไทยปี 2540 ขณะที่แบงก์ไทยยังแข็ง จับตามาตรการสกัดกั้นการลุกลามเป็นโดมิโน กังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องแตะระดับ 5.25-5.50% ฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอยกระทบการส่งออกมากกว่า


วันที่ 13 มีนาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ( SVB) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐอเมริกา ต้องปิดตัวลง ว่า กระทรวงการคลังและทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ยืนยันประชาชนที่ฝากเงินไว้ที่ SBV รวมถึงธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งถูกสั่งปิดไปแล้วนั้น สามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวน


ขณะที่เฟดจะจัดตั้งโครงการ “Bank Term Funding Program” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB ถือเป็นสัญญาณที่ดี จึงต้องติดตามใกล้ชิดว่าภาพรวมจะมีทิศทางอย่างไร


สำหรับประเทศไทยยังเชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินของไทย โดยเฉพาะภาคธนาคารมีความแข็งแกร่งสะท้อนจากกำไรที่สูง เนื่องจากมีบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ทำให้มีความระมัดระวังในการบริหารงาน


สำหรับภาคอุตสาหกรรม สิ่งที่กังวลมาตลอดและยังคงต้องติดตามต่อไปคือ การที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) มากขึ้น


และจะกระทบต่อประเทศเกิดใหม่ที่มีฐานะการคลังอ่อนแอคิดเป็น 1 ใน 3 ของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเด็นนี้จะเห็นถึงผลกระทบต่อภาคส่งออก มาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 จนถึง ม.ค. 2566 ที่มูลค่าการส่งออกติดลบต่อเนื่อง จึงทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องลดคาดการณ์การส่งออกปี 2566 จากเดิมโต 1-2% เป็น 0 ถึง -1% จากปีก่อน


ดังนั้นการส่งออกของไทยครึ่งปีแรก จึงมีแนวโน้มผันผวนในลักษณะขาลง ไปตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก


“การล้มลงของ SVB ระยะสั้น อาจทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวน และหลายคนมองว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น ดังนั้นต้องดูนโยบายที่สหรัฐออกมาว่าจะสามารถสกัดกั้นการลุกลามเป็นโดมิโน ถึงขั้นกลายเป็นวิกฤติใหญ่ได้รือไม่ในระยะต่อไป โดยเฉพาะที่หลายฝ่ายกังวลคือแบงก์ขนาดกลางและเล็กของสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่ยังคงส่งสัญญาณจะขยับดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายที่อาจไปแตะระดับ 5.25-5.50%”


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ดู 18 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page
Free Counter