เกี่ยวกับ กกร.

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

อันประกอบด้วย

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สมาคมธนาคารไทย

คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เรียกย่อว่า กกร.ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2520
โดยมติร่วมระหว่างสถาบันทั้ง 3 สถาบัน ซึ่งเป็นสถาบันหลัก ภาคเอกชนในการส่งเสริมการค้า การอุตสาหกรรม และการเงินของประเทศ
โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นศูนย์รวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นเอกภาพของภาคธุรกิจเอกชนเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางการค้าและเศรษฐกิจ
และนำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) หรือเสนอต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหานั้นๆ
โดยตรงเพื่อประกอบการพิจารณาในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ หรือกำหนดเป็นนโยบาย หรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติ

นับตั้งแต่ได้มีการรวมตัวกันของ 3 สถาบันภาคเอกชนเป็นคณะกรรมการร่วม (กกร.) ได้ทำหน้าที่เสนอ ข้อเท็จจริง
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา การค้า การอุตสาหกรรมและการเงินของประเทศ เป็นลำดับตลอดมา

จากโครงสร้างการจัดตั้งและการดำเนินงานของแต่ละสถาบันซึ่งมีลักษณะเป็นแหล่งรวมความคิดเห็นและ ข้อเสนอแนะที่ผ่านองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากลั่นกรองกันมาเป็นทอดๆตามลำดับสายสัมพันธ์ และสายการดำเนินงานสู่การพิจารณาของแต่ละสถาบันจนได้เป็นข้อยุติที่จะนำมาพิจารณาหาจุดยืนที่มีเอกภาพร่วม กันของ คณะกรรมการร่วมฯ (กกร.) อีกครั้ง เป็นขั้นตอนลำดับท้ายสุดนั้น ปัญหาทุกปัญหาจะได้รับการพิจารณา อย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงผลได้ผลเสียต่อระบบธุรกิจส่วนใหญ่และผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นหลัก  จึงทำให้ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของภาคธุรกิจเอกชนมีความสำคัญและมีพลังพอเพียงที่จะได้รับการพิจารณา จากภาครัฐด้วยดี

ดังจะเห็นได้จากการที่ภาครัฐได้พิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามแนวข้อเสนอแนะของ 3 สถาบันภาคเอกชนไปแล้วเป็น จำนวนมากมาย ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของ ประเทศไทยในระยะเวลาที่ผ่านมามีอัตราความเจริญเติบโตสูง ขึ้นเป็นลำดับอย่างรวดเร็ว นอกจากจะได้ทำหน้าที่เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีเอกภาพและมีความสำคัญต่อ รัฐบาลแล้ว คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันยังมีการพิจารณาจุดยืนร่วมกัน ในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่จะมี การหยิบยกขึ้นพิจารณาในการประชุมร่วมกับองค์การ หรือสถาบันทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั้งในระดับ ประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งมี ความจำเป็นต้องมีเอกภาพในหลักการและ เหตุผลรวมทั้งวิธีการในการเสนอความ คิดเห็นข้อเสนอหรือข้อต่อรองในการประชุมเจรจา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายไทย ไว้ให้มากที่สุด

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และอย่าง จริงจังระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของ 3 สถาบัน จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและ เพิ่มพูนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ตลอดไป

วัตถุประสงค์ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

เป็นแกนกลางประสานความร่วมมือกันระหว่าง
ภาคเอกชน และภาครัฐบาล
ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ

เป็นศูนย์รวมการพิจารณาปัญหา
ทางธุรกิจ
ทุกสาขา

เป็นตัวแทนภาคเอกชนในการเสนอข้อเท็จจริง
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ที่เป็นเอกภาพ 
ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาล

เป็นตัวแทนภาคเอกชนในการประชุมเจรจาปัญหา และการร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ กับองค์การต่างประเทศ ทั้งในระดับประเทศ และในระดับภูมิภาค

หน้าที่ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

1
ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาคเศรษฐกิจของรัฐบาล
2
ประสานงานระหว่างสถาบันภาคเอกชนเพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความสอดคล้องกับกฎระเบียบ และแนวนโยบายของรัฐบาล
3
พิจารณาข้อยุติปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนโดยคำนึงผลประโยชน์ ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆ ต่อภาครัฐบาล
4
แต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทาง เศรษฐกิจ (กรอ.) ในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนรวมทั้งการเข้าร่วม ประชุมในคณะกรรมการ อื่นๆ ของหน่วยงานราชการต่างๆ ตามความเหมาะสม และความจำเป็น
5
พิจารณาปัญหาและจุดยืนของภาคเอกชนไทยเพื่อการเข้าร่วมประชุมเจรจาปัญหาการค้าและ เศรษฐกิจกับองค์การต่างประเทศ ในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนไทย
6
ให้ความร่วมมือกับภาครัฐบาลในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการค้าและเศรษฐกิจของ ประเทศเมื่อ  ได้รับการร้องขอตามความเหมาะสม

กิจกรรม

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กกร. จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ดังนี้

  • สภาธุรกิจ ABAC (ประเทศไทย)
  • สภาธุรกิจ IMT-GT (ประเทศไทย)
  • สภาธุรกิจ GMS-FRETA (ประเทศไทย)
  • สภาธุรกิจ EABC (ประเทศไทย)
  • สภาธุรกิจ GMS-BC (ประเทศไทย)
  • สภาธุรกิจ ASEAN BAC (ประเทศไทย)
  • สภาธุรกิจ MEKONG (ประเทศไทย)
  • สภาธุรกิจ ACMECS (ประเทศไทย)

เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศต่าง กกร. จึงได้จัดตั้งสภาธุรกิจ ดังนี้

สภาธุรกิจระดับภูมิภาค

  • สภาธุรกิจ ไทย - ตะวันออกกลาง
  • สภาธุรกิจ ไทย - แอฟริกา
  • สภาธุรกิจ ไทย - ลาตินอเมริกา
  • สภาธุรกิจ ไทย - สหภาพยุโรป

สภาธุรกิจระดับทวิภาคี

  • สภาธุรกิจ ไทย - เวียดนาม
  • สภาธุรกิจ ไทย - ลาว
  • สภาธุรกิจ ไทย - เมียนมา
  • สภาธุรกิจ ไทย - อิหร่าน
  • สภาธุรกิจ ไทย - ฟิลิปปินส์
  • สภาธุรกิจ ไทย - สิงคโปร์
  • สภาธุรกิจ ไทย - อินโดนีเซีย
  • สภาธุรกิจ ไทย - กัมพูชา
  • สภาธุรกิจ ไทย - ปากีสถาน
  • สภาธุรกิจ ไทย - ตุรกี
  • สภาธุรกิจ ไทย - ออสเตรเลีย / นิวซีแลนด์
  • สภาธุรกิจ ไทย - มาเลเซีย
  • สภาธุรกิจ ไทย - จีน
  • สภาธุรกิจ ไทย - อินเดีย
  • สภาธุรกิจ ไทย - รัสเซีย
  • สภาธุรกิจ ไทย - บังคลาเทศ
  • สภาธุรกิจ ไทย - แอฟริกาใต้
  • สภาธุรกิจ ไทย - อิยิปต์
  • สภาธุรกิจ ไทย - ชิลี
  • สภาธุรกิจ ไทย - ซาอุดีอาระเบีย
  • สภาธุรกิจ ไทย - สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์