เศรษฐกิจไทย เตรียมตั้งรับแรงสั่นสะเทือนจากมาตรการ ภาษีทรัมป์ เมื่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผนึกกำลังกระทรวงการคลัง เร่งอัดฉีดงบประมาณกว่า แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบน้ำ พร้อมเตรียมแผนรองรับผลกระทบภาคแรงงาน-ส่งออก ด้านรัฐบาลลั่นพร้อมใช้กระสุนเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท หากสถานการณ์เลวร้ายกว่าคาด พร้อมขยับ ขยายเพดานหนี้ และออกมาตรการเงินกู้ฉุกเฉินหากจำเป็น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สศช.กำลังเร่งจัดทำแผน โครงการลงทุนระยะสั้น เน้นโครงการขนาดเล็กที่สามารถเริ่มได้ทันที โดยเฉพาะการลงทุนใน โครงการจัดการน้ำ ทั้งแหล่งน้ำในชุมชนและระบบกระจายน้ำ เพื่อหนุนการผลิตภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ในขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อจัดสรรงบประมาณจากงบเหลื่อมปี 2568 และงบเหลือจ่ายปี 2568 นำมาใช้เร่งลงทุน คาดว่าจะรวมกันได้วงเงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาท
"เราพยายามเร่งใส่เงินเข้าสู่ระบบในไตรมาส 3-4 เพื่อประคองเศรษฐกิจ และเตรียมตั้งรับผลกระทบจาก ภาษีทรัมป์ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง" นายดนุชากล่าว
สภาพัฒน์เน้นว่า จะยังไม่เร่งกู้เงินในตอนนี้ แต่จะพยายามใช้เงินจากงบประมาณที่มีอยู่ให้เต็มที่ก่อน เพื่อเก็บ Policy Space ไว้รองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินในอนาคต หากเศรษฐกิจทรุดตัวหนักจริง ๆ จึงค่อยพิจารณาออกกฎหมายกู้เงินเพิ่มเติม
สำหรับ งบประมาณปี 2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท ขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
สศช.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนจาก เอฟเฟ็กต์ภาษีทรัมป์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยคาดว่าจีดีพีปีนี้อาจขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน 2.8% ลงมาอยู่ที่ 2.3-3.3%
หากในไตรมาส 3-4 ออร์เดอร์ส่งออกหดตัว สศช.มีแผนสำรองที่จะออกมาตรการดูแลการจ้างงาน พร้อมโครงการ ซอฟต์โลน เพื่อช่วยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่ต้องประเมินให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการให้กู้ผิดจุด
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขนาดไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท โดยจะเน้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ กระตุ้นการบริโภค การลงทุนในประเทศ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ
แหล่งเงินอาจมาจากการกู้เพิ่มเติม แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าเป็นการกู้เพื่อการลงทุนที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจจริง ๆ เพื่อลดสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีในอนาคต
การขยายเพดานหนี้สาธารณะ จาก 70% ต่อจีดีพี กำลังอยู่ในระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์หากจำเป็นต้องกู้เพิ่ม
ภาคเอกชน โดยเฉพาะ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการบางกลุ่มเจรจากับคู่ค้าต่างประเทศเพื่อแบ่งภาระภาษี และหาตลาดใหม่ ๆ ทดแทนตลาดที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเรียกร้องให้รัฐพิจารณา รื้อเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ BOI เพื่อป้องกันการลงทุนศูนย์เหรียญ และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธาน สรท. ย้ำว่า ต้องมีมาตรการเชิงรุกปกป้องการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ และสนับสนุนการตลาดในต่างประเทศ เพื่อผลักดันสินค้าไทยออกสู่เวทีโลก
ด้าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า ผลกระทบจาก ภาษีทรัมป์ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยชัดเจนในช่วงไตรมาส 3-4 โดยการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวจากความไม่แน่นอนทางนโยบายระหว่างประเทศ และปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่ไทยเสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า แม้ในระยะสั้นจะมีการเร่งส่งออกก่อนภาษีมีผล แต่หลัง 90 วันแรก ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และเร่งหามาตรการรับมือระยะยาว เพื่อไม่ให้ภาคการผลิตไทยเสียเปรียบในระยะถัดไป
เศรษฐกิจไทย กระตุ้นเศรษฐกิจ ภาษีทรัมป์ การจัดการน้ำ ซอฟต์โลน การจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สภาผู้ส่งออก สภาอุตสาหกรรม