ภาคเอกชนไทยพร้อมใจส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล เร่งหาทางออกปัญหาการเมือง ก่อนเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง โดยเฉพาะการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ที่มีเส้นตาย 8 กรกฎาคมนี้
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2568 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้านทางเศรษฐกิจ โดยสถานการณ์การเมืองในประเทศยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ปัจจัยลบซ้อนทับ:
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่านยังไม่มีทีท่าจะจบ
มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐ
นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา
งบประมาณรัฐไม่เพียงพอ ต้องก่อหนี้เพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท
ตลาดทุนยังไม่ฟื้นตัว
สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในสายตาภาคเอกชนคือ “ความไม่แน่นอนทางการเมือง” เพราะไม่รู้ว่าทิศทางการบริหารประเทศจะไปทางไหน การขาดความชัดเจนส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งในและนอกประเทศ
นายพจน์เตือนว่า หากรัฐบาลเลือกแนวทางให้ นายกรัฐมนตรีลาออก คณะรัฐมนตรีทั้งชุดก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง อาจทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่านไม่มีใครเจรจาแทนประเทศได้ทัน โดยเฉพาะประเด็น เจรจาภาษีกับสหรัฐ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 8 ก.ค.นี้ ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างรุนแรง
หากเลือก ยุบสภา อย่างน้อยยังคงมีรัฐบาลรักษาการ ทำให้สามารถขับเคลื่อนบางส่วนของเศรษฐกิจไปได้อีก 2-3 เดือน
เสียงเตือนจากสภาอุตสาหกรรมฯ
นายเกรียงไกร เธียรนกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเพิ่มเติมถึงคลิปเสียงระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับสมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่ากำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก
โดยมองว่า เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่มาจาก “ภายในประเทศ” ซ้อนทับปัจจัยลบจากภายนอก ทั้งสงครามในตะวันออกกลาง และปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา
ขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอนว่าผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะออกมาเป็นบวกหรือไม่ หากไทยเสียเปรียบ เท่ากับเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2568 จะยิ่งเผชิญแรงกดดันหนักกว่าที่คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) คาดไว้
นายเกรียงไกร เธียรนกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
วิกฤตการเมืองรอบใหม่จาก “พรรคภูมิใจไทย”
อีกปัจจัยเร่งด่วนคือ การประกาศลาออกของพรรคภูมิใจไทยจากตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเกี่ยวพันกับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยที่เป็นปมปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคใหญ่ที่มีจำนวน ส.ส. มาก การถอนตัวครั้งนี้อาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลโดยตรง
ภาคเอกชนยอมรับว่ากำลังจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด โดยเฉพาะจำนวนพรรคร่วมรัฐบาลในอนาคต และเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ