หอการค้าไทยเตรียมส่งข้อเสนอให้กระทรวงการคลังภายในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อรับมือมาตรการภาษีนำเข้าที่สหรัฐเตรียมใช้กับสินค้าส่งออกจากไทยในอัตราสูงถึง 36% เริ่มมีผลวันที่ 1 สิงหาคม นี้
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนพร้อมแล้วในการจัดทำ “การบ้าน” ส่งให้กระทรวงการคลัง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเจรจากับสหรัฐ โดยเน้นไปที่สินค้าส่งออกสำคัญที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ภาคเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมการผลิต
“ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งให้กระทรวงคลังภายในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อไม่ให้พลาดเส้นตายการเจรจากับสหรัฐ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีในวันที่ 1 ส.ค.นี้” นายวิศิษฐ์กล่าว
ขั้นตอนสำคัญในการเตรียมการ คือการตรวจสอบว่าสินค้าใด ผลิตจริงในไทย มากน้อยแค่ไหน โดยต้องมีวัตถุดิบในประเทศไม่ต่ำกว่า 40% เพื่อไม่ให้ถูกตีว่าเป็น "สินค้าสวมสิทธิ" ซึ่งสหรัฐให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
การเจรจาครั้งนี้มีลักษณะคล้ายกับการทำ FTA (ข้อตกลงการค้าเสรี) โดยเอกชนไทยต้องช่วยกันรวบรวมข้อมูลสินค้าของสมาชิกสมาคมแต่ละกลุ่ม แบ่งประเภทให้ชัดเจนว่ากลุ่มใดจะได้รับผลกระทบอย่างไร เพื่อเสนอมาตรการเยียวยาอย่างเหมาะสม
ไทยยังมีความหวังในการเจรจา เพราะขณะนี้เวียดนามและฟิลิปปินส์ได้ตกลงกับสหรัฐไปแล้ว โดยเวียดนามโดนภาษีเฉลี่ย 20% และหากพบเป็นสินค้าสวมสิทธิจะถูกเก็บสูงกว่านั้น
“ตอนนี้เราต้องดูเวียดนามเป็นต้นแบบ เพราะเขาเจรจาเสร็จแล้ว ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็เพิ่งประกาศว่าโดน 20% เช่นกัน ซึ่งแปลว่าอาเซียนทั้งภูมิภาคไม่น่าหลีกเลี่ยงตัวเลขระดับนี้ได้” นายวิศิษฐ์อธิบาย
มาตรการภาษีใหม่นี้อาจส่งผลต่อซัพพลายเชนในวงกว้าง ครอบคลุมทั้งเกษตรกร แรงงาน ไปจนถึงผู้ประกอบการ รวมกว่า 20 ล้านคน หากไทยโดนภาษีมากกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนามแม้เพียง 5-10% จะกระทบการแข่งขันในตลาดโลกอย่างหนัก
ทางออกระยะยาวที่ภาคธุรกิจไทยเริ่มหันมาพิจารณาคือการ ลงทุนในเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อลดต้นทุนการผลิต แม้จะมีต้นทุนเริ่มต้นสูงและใช้เวลาคืนทุนนาน แต่ก็อาจเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการอยู่รอด
“นี่คือจุดที่ต้องตัดสินใจระหว่างจะหยุดเดิน หรือทุ่มสุดตัวพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันต่อไปในตลาดโลก” นายวิศิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย