ข่าวสารธุรกิจ

จับตาแนวโน้มเศรษฐกิจอาเซียน 2568

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์เศรษฐกิจอาเซียนปี 2568 เติบโต 4.7% พร้อมยกไทยยังเติบโตต่ำสุดในภูมิภาค

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% เป็น 4.7% โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของภาคการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ ในรายงาน Asian Development Outlook เดือนธันวาคม 2567 ADB คาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะยังคงเติบโตได้อย่างมั่นคงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์นโยบายโลก

ทั้งนี้ ADB ได้วิเคราะห์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์และเวียดนามจะยังคงเติบโตได้ดี ส่วนประเทศอื่น ๆ อย่างมาเลเซียและไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่แตกต่างกันออกไป

ฟิลิปปินส์: คาดว่าจะเติบโต 6.0% ในปี 2567 และขยายตัวเป็น 6.2% ในปี 2568 โดยได้รับการสนับสนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนที่แข็งแกร่ง การลดลงของอัตราเงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายทำให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เติบโตอย่างมั่นคง นอกจากนี้ ภาคบริการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการขยายตัว

มาเลเซีย: คาดว่าจะขยายตัว 5% ในปี 2567 แต่จะลดลงเหลือ 4.6% ในปี 2568 การขยายตัวของเศรษฐกิจมาเลเซียได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออก ภาคการลงทุนคงที่ และการใช้จ่ายของภาครัฐที่ดีขึ้น รวมถึงการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น Sarawak-Sabah Link Road และ Pan Borneo Highway

เวียดนาม: คาดว่าจะขยายตัว 6.4% ในปี 2567 และเพิ่มเป็น 6.6% ในปี 2568 โดยเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย แม้จะมีผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางิในปี 2567 แต่การตอบสนองอย่างรวดเร็วจากรัฐบาลทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจลดลง

ประเทศไทย: ธนาคารพัฒนาเอเชียได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของประเทศไทยในปี 2567 เป็น 2.6% ซึ่งสะท้อนถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของการส่งออก และการขยายตัวของภาคการผลิต แต่ในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แม้ว่าการท่องเที่ยวและการผลิตจะเติบโต แต่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายที่อาจส่งผลต่อการเติบโตในระยะยาว

ในปี 2568 อาเซียนยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความไม่แน่นอนในโลกการค้า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการเติบโตของภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้อาจกลายเป็นโอกาสในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในเศรษฐกิจ โดยอาเซียนสามารถลงทุนในเทคโนโลยี พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

นอกจากนี้ การขยายความร่วมมือในอาเซียนและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงและอุปสรรคที่ท้าทาย แต่ภูมิภาคอาเซียนยังคงมีโอกาสในการเติบโตที่มั่นคงและมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

อาซียน เศรษฐกิจอาเซียน ธนาคารพัฒนาเอเชีย