ปี 2568 กำลังจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ซบเซา และความผันผวนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้นโยบายการค้าที่ยกระดับความแข็งกร้าวในยุคของ "ทรัมป์ 2.0" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกและเศรษฐกิจไทยโดยรวม
สนั่น อังอุบลกุล ประธานอาวุโส หอการค้าไทย และประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานอาวุโสหอการค้าไทย และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2568 จะยังเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยต้องเดินหน้าอย่างระมัดระวัง ท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ และนโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าสถานการณ์โลกจะเปราะบางและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่กลไกเศรษฐกิจไทยยังคงมี "เครื่องยนต์ขับเคลื่อน" หลายตัวที่สามารถประคองการเติบโตได้ หากได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างเหมาะสมจากภาครัฐ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จึงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวได้ในช่วง 2.4% ถึง 2.9% โดยมีปัจจัยบวกหลายประการที่ช่วยสนับสนุน
ด้านภาคการส่งออก กกร.มองว่าประเทศไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้ แม้จะต้องเผชิญความท้าทายจากมาตรการภาษีนำเข้าชุดใหม่ของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศคู่ค้า
สิ่งสำคัญคือ ภาคเอกชนไทยต้องปรับกลยุทธ์การทำตลาดอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่ให้เต็มที่ พร้อมทั้งขยายตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูง เช่น อินเดีย เวียดนาม และซาอุดีอาระเบีย เพื่อกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพาตลาดหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ
อีกหนึ่งข้อเสนอสำคัญที่เอกชนย้ำถึงรัฐบาล คือการเร่งผลักดันการขยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้ครอบคลุมถึงจังหวัด "ปราจีนบุรี" เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับการลงทุนใหม่ๆ และเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาค
การเพิ่มปราจีนบุรีเข้าไปในพื้นที่ EEC จะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตใหม่ รวมถึงเสริมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแรงในระยะยาว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก (Supply Chain) ที่หลายบริษัทกำลังเร่งปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ
นายสนั่นเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับปี 2568 คือประเทศไทยต้องเดินหน้าอย่างมีสติ ระมัดระวัง และมีกลยุทธ์รับมือที่ชัดเจน การผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง แม้จะอยู่ท่ามกลางพายุปัจจัยลบจากทั่วโลก
ในขณะที่ความท้าทายยังมีมาก แต่หากประเทศไทยสามารถวางยุทธศาสตร์ที่ถูกทาง เปิดตลาดใหม่อย่างรวดเร็ว และดึงการลงทุนในพื้นที่ EEC ได้อย่างเป็นรูปธรรม เศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในปี 2568
เศรษฐกิจไทย GDP ไทย 2568 การส่งออกไทย นโยบายการค้า ทรัมป์ 2.0 EEC หอการค้าไทย เศรษฐกิจโลก กกร